สายตาสั้นคืออะไร? ทำความเข้าใจสาเหตุ อาการ และการรักษา
สายตาสั้น เป็นปัญหาด้านการมองเห็นที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย โดยเฉพาะวัยรุ่น และวัยทำงาน ที่มีการใช้สายตาจ้องจอคอมพิวเตอร์หรือใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนเป็นระยะเวลานาน และขาดการพักสายตาเป็นระยะ โดยปัญหานี้สามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ จากการที่ไม่สามารถมองเห็นภาพระยะไกลได้อย่างชัดเจน เช่น วัยผู้ใหญ่อาจได้รับผลกระทบเมื่อตอนขับรถ ส่วนวัยเรียนอาจมีปัญหามองเห็นกระดานหน้าชั้นเรียนไม่ชัดเจน โดยส่วนมากจึงมักเลือกซื้อแว่นตา หรือคอนแทคเลนส์สำเร็จรูปมาสวมใส่เพื่อแก้ไขการมองเห็นของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ Dr. Ouise Eye Clinic จึงจะพาทุกคนมาเจาะลึกถึงประเด็นนี้มากยิ่งขึ้น ทั้งสาเหตุที่แท้จริง ลักษณะอาการ การตรวจวัดสายตา พร้อมทั้งแนะนำวิธีรักษา และแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้มีประสบปัญหานี้ รวมถึงผู้ที่มีแนวโน้มสายตาสั้น รู้จักแนวทางในการป้องกันความเสี่ยงไม่ให้อาการมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต
สายตาสั้น คืออะไร?
สายตาสั้น (Myopia) คือ ภาวะความผิดปกติด้านการมองเห็น ซึ่งเกิดจากการหักเหของแสงที่มีการตกกระทบลงบริเวณหน้าจอประสาทตา และตกก่อนบริเวณจุดรับภาพ (Retina) ทำให้เกิดอาการมองเห็นภาพระยะไกลไม่ชัดเจน
ภาวะสายตาสั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับดวงตาข้างเดียว หรือเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งสองข้าง สำหรับช่วงวัยเด็กหากเริ่มมีภาวะนี้ ค่าสายตาอาจมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ตามพฤติกรรมการใช้สายตา จนถึงช่วงวัยที่ร่างกายมีหยุดการเจริญเติบโต ค่าสายตาจึงจะเริ่มมีความคงที่มากยิ่งขึ้น
สาเหตุของสายตาสั้น
สาเหตุของสายตาสั้น สามารถเกิดขึ้นได้จากความผิดปกติของโครงสร้างดวงตา ที่ทำให้การหักเหของแสง ไม่สามารถตกกระทบลงบนจอประสาทตาได้อย่างเหมาะสม โดยมีปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการมองเห็นดังต่อไปนี้
ความยาวของลูกตา
ความยาวของลูกตา ภาวะสายตาสั้นอาจเกิดขึ้นจากกระบอกตาที่มีความยาวมากกว่าปกติ ทำให้แสงที่เข้าสู่ดวงตาเกิดการหักเห และมีการตกกระทบก่อนถึงจุดรับภาพ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้มองเห็นวัตถุระยะไกลได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
ความโค้งของกระจกตา
ความโค้งของกระจกตา หากมีลักษณะโค้งมากจนเกินไป อาจทำให้การหักเหแสงมีความคลาดเคลื่อน และผิดจากตำแหน่งที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสายตายาวขึ้นได้ในที่สุด
กรรมพันธุ์
กรรมพันธุ์ หากคนในครอบครัวมีประวัติสุขภาพด้านสายตา อาจเพิ่มโอกาสที่บุตรหลานจะได้รับการถ่ายทอดความผิดปกตินี้ด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้มีแนวโน้มเกิดปัญหาด้านการมองเห็นขึ้นได้ง่ายกว่าบุคคลทั่วไป
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและการใช้สายตา
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและการใช้สายตา ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้สายตาที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้สายตาจดจ้องคอมพิวเตอร์ระยะใกล้ หรือการอ่านหนังสือในพื้นที่ที่มีแสงน้อย ทำให้ดวงตาทำงานอย่างหนัก ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของภาวะสายตาสั้นได้โดยง่าย
อาการของสายตาสั้น
อาการของสายตาสั้น ที่พบได้บ่อยมักมีลักษณะดังต่อไปนี้
- มองเห็นวัตถุที่อยู่ระยะไกลไม่ชัดเจน ต้องหรี่ตาหรือเพ่งสายตาจึงจะมองเห็นได้คมชัดมากขึ้น
- รู้สึกปวดตาหรือดวงตาเมื่อยล้า หลังพยายามปรับโฟกัสสายตา เพื่อการมองเห็นที่ชัดเจนมากขึ้น
- เมื่อมองเห็นภาพหรือวัตถุที่อยู่ระยะไกลในลักษณะซ้อนทับกัน
- มองเห็นแสงไฟในลักษณะฟุ้งไม่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลากลางคืน
ระดับของสายตาสั้น
ระดับของสายตาสั้น จำแนกได้ตามค่าความผิดปกติของการมองเห็น ซึ่งมีหน่วยวัดเป็นไดออปเตอร์ (Diopter) หากมีค่าติดลบมาก ย่อมแสดงถึงระดับที่รุนแรงมากขึ้นเช่นเดียวกัน สามารถแบ่งกลุ่มระดับของสายตาสั้นได้ดังนี้
สายตาสั้นน้อย
สายตาสั้นน้อย มีค่าสายตาระหว่าง -0.25 ถึง -3.00 ไดออปเตอร์ หรือมีปัญหาค่าสายตาไม่เกิน 300 โดยผู้ที่มีปัญหาสายตาระดับนี้ จะมองเห็นวัตถุระยะไกลไม่ชัดเจนเพียงเล็กน้อย และยังสามารถทำกิจกรรมประจำวันได้ตามปกติ อาจมีการเพ่งสายตาบางบ้างครั้งเพื่อมองสิ่งที่อยู่ไกลตัว โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการใช้แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ตลอดเวลา
สายตาสั้นปานกลาง
สายตาสั้นปานกลาง มีค่าสายตาระหว่าง -3.25 ถึง -6.00 ไดออปเตอร์ หรือมีปัญหาค่าสายตาไม่เกิน 600 โดยผู้ที่มีปัญหาสายตาในระดับนี้ จะไม่สามารถมองเห็นภาพระยะไกลได้อย่างชัดเจน และหากไม่ใช้แว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ จะทำกิจวัตรประจำวันได้ไม่สะดวก รวมทั้งอาจมีอาการปวดตา เมื่อยล้าตาหลังการใช้สายตาเพื่อพยายามปรับโฟกัสภาพ
สายตาสั้นมาก
สายตาสั้นมาก มีค่าสายตามากกว่า -6.00 ไดออปเตอร์ หรือมีปัญหาค่าสายตาเกิน 600 โดยผู้ที่มีปัญหาสายตาในระดับนี้ จะได้รับผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ยากลำบาก รวมทั้งมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคทางตาได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคต้อหิน โรคต้อกระจก และโรคจอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น
การวินิจฉัยสายตาสั้น
การวินิจฉัยสายตาสั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบดังต่อไปนี้
การตรวจวัดสายตาโดยจักษุแพทย์
การตรวจวัดสายตาโดยจักษุแพทย์ เป็นขั้นตอนที่จักษุแพทย์จะทำการซักประวัติ เพื่อสอบถามรายละเอียดที่เกี่ยวข้องภาวะด้านสายตา ทั้งอาการที่เกิดขึ้น ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงสอบถามประวัติทางการแพทย์ของบุคคลในครอบครัว เพื่อทำการประเมินความผิดปกติ และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมให้ผู้เข้ารับการตรวจในแต่ละบุคคล
เครื่องมือและเทคโนโลยีในการวินิจฉัย
เครื่องมือและเทคโนโลยีในการวินิจฉัย หลังทำการซักประวัติ จักษุแพทย์ทดสอบความสามารถด้านการมองเห็นโดยละเอียดของผู้เข้ารับการตรวจ โดยการใช้เครื่องมือหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
- ตรวจวัดการมองเห็น (Visual Acuity Test) : เป็นการวัดการมองเห็นทั้งระยะใกล้ และระยะไกล โดยการใช้แผ่นทดสอบสายตา (Snellen Chart) ที่มีชุดตัวเลขทั้งหมด 8 แถว ซึ่งจักษุแพทย์จะทำการประเมินความสามารถในการอ่านของผู้เข้ารับการตรวจ โดยเรียงลำดับตั้งแต่ตัวอักษรขนาดใหญ่ ไปจนถึงตัวอักษรขนาดเล็ก
- ตรวจวัดค่าสายตา (Refraction Test) : เป็นการตรวจวัดผ่านเครื่องมือ Phoropter และเลนส์สายตาหลายระยะ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจะคอยปรับเปลี่ยน และเลือกเลนส์ที่ตอบโจทย์การมองเห็นของผู้เข้ารับการตรวจมากที่สุด
- ตรวจวัดการหักเหของแสง (Retinoscope) : เป็นการตรวจโดยการใช้เครื่องเรติโนสโคป เพื่อวัดลักษณะการหักเหของแสงที่สะท้อนกลับจากจอประสาทตา ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยประเมินได้ว่า ผู้เข้ารับการตรวจมีภาวะสายตาสั้นหรือไม่
วิธีการรักษาและแก้ไขสายตาสั้น
วิธีการรักษาและแก้ไขสายตาสั้น มีหลายรูปแบบให้พิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคลดังต่อไปนี้
แว่นตา
แว่นตา เป็นวิธีรักษาและแก้ไขปัญหาสายตาสั้นที่ปลอดภัยสูง และไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง ซึ่งขั้นตอนในการรักษาผู้เข้าใช้บริการสามารถทำการตรวจวัดสายตา เพื่อหาค่าสายตาที่เหมาะสม โดยจักษุแพทย์จะนำค่าที่ได้นำมาผลิตเป็นแว่นสายตา ที่ช่วยปรับการหักเหของแสงให้เข้าสู่ตาได้ในตำแหน่งที่ถูกต้อง
คอนแทคเลนส์
คอนแทคเลนส์ เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยแก้ไขปัญหาด้านการมองเห็น ผู้เข้าใช้บริการสามารถนำค่าสายตาที่ได้จากการตรวจวัด มาอ้างอิงสำหรับการเลือกซื้อคอนแทคเลนส์ โดยวัสดุของเลนส์มีให้เลือกหลายรูปแบบ ทั้งแบบชนิดรายวัน หรือชนิดรายเดือน สำหรับการใส่เลนส์ สามารถสวมครอบทับบริเวณกระจกตา เพื่อทำให้มองเห็นภาพระยะไกลได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
การผ่าตัดแก้ไขสายตา (LASIK, PRK, SMILE, ICL)
การผ่าตัดแก้ไขสายตา เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาที่จักษุแพทย์จะทำการพิจารณาถึงความเหมาะสมในแต่ละบุคคล โดยรูปแบบที่ได้รับความนิยมมีดังต่อไปนี้
- LASIK : เป็นการผ่าตัดเลเซอร์ เพื่อปรับแก้ไขลักษณะความโค้งของกระจกตาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้การหักเหของแสง สามารถตกกระทบเข้าสู่จุดรับภาพในตำแหน่งที่ถูกต้อง
- PRK (Photorefractive Keratectomy) : เป็นการผ่าตัดที่มีการลอกผิวกระจกตาด้านบนออก และใช้เลเซอร์เพื่อปรับเปลี่ยนลักษณะความโค้งกระจกตาให้ตรงตามค่าสายตาของผู้เข้ารับการรักษา
- ReLex SMILE : เป็นเทคโนโลยีการผ่าตัดแบบไร้ใบมีด โดยใช้เลเซอร์ (Femtosecond laser) เพื่อแยกชั้นกระจกตา และนำความโค้งของกระจกตาในส่วนที่เกินออกมา โดยไม่ทำให้กระจกจอชั้นบน และเส้นประสาทตาได้รับความเสียหาย
- ICL (Implantable Collamer Lens) : เป็นรูปแบบการผ่าตัดที่มีการฝั่งเลนส์ในดวงตาชนิดถาวร เพื่อช่วยปรับการมองเห็นให้ชัดเจน โดยวิธีมีความปลอดภัยสูง และเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดน้อย
การควบคุมสายตาสั้นในเด็ก
การควบคุมสายตาสั้นในเด็ก ผู้ปกครองสามารถป้องกัน และชะลอการเกิดปัญหาได้ด้วยวิธีดังนี้
- จำกัดการใช้สายตาระยะใกล้ โดยหลีกเลี่ยงการให้บุตรหลานใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นระยะเวลานาน รวมถึงกำหนดระยะห่างของการใช้สายตา ซึ่งระยะที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 18-24 นิ้ว
- พักสายตาอย่างสม่ำเสมอ ผู้ปกครองสามารถใช้กฎ 20/20/20 คือใช้สายตา 20 นาที พักสายตา 20 วินาที และใช้สายตามองระยะไกล 20 ฟุต
- ใช้เลนส์ชะลอสายตา ซึ่งเป็นเลนส์ที่ถูกออกแบบมาสำหรับชะลอปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดสายตาสั้น โดยสามารถควบคุมการให้แสงสามารถตกกระทบลงที่ตำแหน่งจอประสาทตาได้อย่างเหมาะสม
การดูแลสุขภาพตาสำหรับผู้มีสายตาสั้น
การดูแลสุขภาพตาสำหรับผู้มีสายตาสั้น สามารถทำตามได้ดังวิธีต่อไปนี้
- สวมใส่แว่นตา หรือคอนแทคเลนส์ที่เหมาะสมกับค่าสายตา
- พักสายตาสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อตาได้พักจากการใช้สายตาอย่างหนัก
- หลีกเลี่ยงการใช้สายตาในพื้นที่แสงน้อย หรือใช้หน้าจออิเล็กทรอนิกส์ที่มีความสว่างมากจนเกินไป
- เข้ารับการตรวจวัดสายตาต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อคอยเช็กสุขภาพตา และตรวจดูความเปลี่ยนแปลงของค่าสายตา
คำถามที่พบบ่อย (FAQ) เกี่ยวกับสายตาสั้น
สายตาสั้นสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?
สายตาสั้น ยังไม่สามารถรักษาให้ขาดได้ แต่สามารถควบคุมความรุนแรงได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การสวมใส่แว่นตา และคอนแทคเลนส์ที่ตรงกับค่าสายตา รวมถึงการผ่าตัด เพื่อช่วยให้มองเห็นภาพระยะไกลได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
การใช้คอมพิวเตอร์นาน ๆ เกี่ยวข้องกับสายตาสั้นหรือไม่?
การใช้คอมพิวเตอร์นาน ๆ อาจไม่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาสายตาสั้นโดยตรง แต่สามารถทำให้กล้ามเนื้อตาเกิดการหดตัว ซึ่งมีผลต่ออาการตาล้า ปวดตา หรือรู้สึกไม่สบายตาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากขาดการพักสายตาเป็นระยะ อาจทำให้สายตาเสื่อม และเสี่ยงต่อค่าสายตาสั้นที่อาจเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
ควรตรวจวัดสายตาบ่อยแค่ไหน?
ควรตรวจวัดสายตาบ่อยแค่ไหน โดยปกติแล้วหากยังไม่มีอาการผิดปกติควรตรวจวัดสายตาทุก 1 ปี แต่ในกรณีที่มีความเริ่มมีอาการผิดปกติ หรือเป็นผู้มีปัญหาสายตาสั้นควรเข้ารับการตรวจทุกปี เพื่อคอยตรวจหาความผิดปกติ และอัปเดตการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตา